ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร
ทุกคนคงเคยได้ยินโรคตากุ้งยิงกันมาบ้าง แต่วันนี้ สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร มาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ ต้องทำความรู้จักกันก่อนเลยว่า กุ้งยิง (Sty, Stye, Hordeolum) คือ การที่เกิดอาการตุ่มฝีเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตา ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร สามารถพบเกิดได้กับเปลือกตาทั้งสองข้าง โอกาสในการเกิดแต่ละข้างมีใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังสามารถเกิดได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักพบว่าเกิดกับเปลือกตาบนมากกว่าเนื่องจากเปลือกตาด้านบนจะมีจำนวนต่อมต่าง ๆ มากกว่าเปลือกตาล่าง
โรคตากุ้งยิง เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งชายและหญิง อ้างอิงจากงานวิจัยส่วนมากพบว่าพบได้มากในเด็กที่มีอายุประมาณ 4-10 ปี ส่วนวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย เพราะสารจากต่อมต่าง ๆ ในวัยผู้ใหญ่มักจะมีความเข้มข้นกว่าในวัยเด็กจากอิทธิพลของฮอร์โมน จึงก่อให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า โดยตากุ้งยิงจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
- ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด หรือ ตากุ้งยิงภายนอก
เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนบริเวณขอบตา มักจะมีขนาดกลางและไม่ใหญ่และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก
- ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน หรือ ตากุ้งยิงภายใน
เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตาซึ่งจะสามารถเห็นได้เวลาปลิ้นเปลือกตา โดยหัวฝีนั้นจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา มักมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่และรุนแรงกว่าชนิดแรกและหัวฝีจะชี้เข้าด้านใน
แต่ในบางครั้งต่อมไขมันบริเวณเยื่อเปลือกตาอาจเกิดการอุดตันของรูเปิดเล็ก ๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวกันอยู่ภายในต่อม จนกลายเป็นตุ่มนูนแข็งขนาดพอ ๆ กับกุ้งยิงได้ เรียกว่า ตาเป็นซิสต์ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร หรือบางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปจนทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกับการเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ และเมื่อหายอักเสบแล้ว ตุ่มซิสต์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
อาการของตากุ้งยิง |
- อาการเริ่มต้น
อาการของตากุ้งยิงส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการเคืองตาหรือคันตาคล้ายมีผงอยู่ในตาอยู่ตลอดเวลา ในบริเวณใกล้เคียงจะเกิดตุ่มฝี อาจมีน้ำตาไหล ทำให้ผู้ป่วยต้องขยี้ตาเสมอ ซึ่งในเวลาต่อมา 1-2 วันจะเริ่มบวมแดงและเจ็บเล็กน้อยในช่วงแรก
ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาบริเวณที่ปวดนั้นจะกลายเป้นตุ่มแข็ง เมื่อแตะถูกจะเจ็บ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดที่บริเวณเปลือกตา ในลักษณะปวดแบบตุบ ๆเป็นระยะๆเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง เมื่อก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ต่อมาตุ่มฝีจะค่อย ๆ นุ่มลง มีหนองนูนเป่ง เห็นเป็นหัวขาว ๆ เหลือง ๆ หลังจากนั้นหนองจะแตกและยุบไป นอกจากนี้ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีขี้ตาออกมากผิดปกติหรือมีขี้ตาไหล เปลือกตาบวม ปวดตา หรือตาแดง
- ลักษณะของกุ้งยิง
ส่วนมากกุ้งยิงมักจะขึ้นเพียงตุ่มเดียว อาจจะเป็นที่เปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ น้อยคนนักที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน 2-3 ตุ่ม หากกุ้งยิงขึ้นบริเวณหางตามักจะมีอาการรุนแรง อาจทำให้หนังตาบวมแดงจนตาปิด ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4-5 วันต่อมา ตุ่มฝีมักจะแตกเอง แล้วหัวฝีจะยุบลงและหายปวด ถ้าหนองระบายออกได้หมดก็จะยุบหายไปภายใน 1 สัปดาห์ (ในบางรายที่ตุ่มฝีแตกและมีหนองไหลออกมา
หากเชื้อรุนแรงหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจก่อให้เกิดการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบก้อนและแผ่กว้างออกไป ซึ่งในระยะนี้จะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น และเด็กบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย) ในผู้ป่วยที่เคยเป็นตากุ้งยิงมาแล้วครั้งหนึ่ง อาจจะมีอาการกำเริบแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาจจะเป็นตรงจุดเดิม หรือย้ายที่ หรือสลับข้างไปมาก็ได้
สาเหตุของตากุ้งยิง |
สาเหตุเริ่มต้นจะเริ่มจากการที่มีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าที่บริเวณดวงตา หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยเผลอไปใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตาจนทำให้ต่อมบริเวณดวงตานั้นอุดตันและอักเสบ และต่อมาอาการของตากุ้งยิงเกิดจากกิารติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) ซึ่งอาการอักเสบเริ่มจากท่อของต่อมต่างๆ ที่เกิดการอุดตันและทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปได้ ซึ่งทำให้แบคทีเรียเป็นจำนวนมากเข้าไปในส่วนดังกล่าวและเกินมากกว่าที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถจัดการได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น
- ไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้าสกปรก มักพบอาการอักเสบหรือตากุ้งยิงในกลุ่มคนที่ชอบใช้มือขยี้ดวงตา หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา รวมถึงการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด
- ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือรูขุมขนเปิดกว้างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้หน้ามัน จะเกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง จะทำให้มีโอกาสที่จะเป็นได้ง่าย
- มีสุขภาพทั่วไปไม่ดีนัก เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ
มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง