ทำความรู้จักกับประจำเดือน

  • Last modified on:3 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:26Words
  • PostView Count:204Views

ทำความรู้จักกับประจำเดือน


ประจำเดือนคืออะไร? คือ
การที่ร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงของเลือดและเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุก 21-35 วัน และแต่ละคนจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงระยะเวลา 3-7 วัน การที่เราต้องมีการสร้างเนื้อเยื่อโพรงมดลูกใหม่เสมอก็เพื่อให้พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้เกิดวงโคจรของประจำเดือนแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามระดับของฮอร์โมนเพศด้วย วันนี้ สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆให้ทุกท่านได้อ่าน และ ทำความรู้จักกับประจำเดือน กันนะคะ

 

ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย 

 

            จากงานศึกษาที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิงได้อธิบายไว้ว่า แท้จริงแล้วประจำเดือนไม่ใช่ของเสียหรือเลือดเสียแต่อย่างใด แต่ประจำเดือนคือเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ร่างกายจึงมีการปรับตัวและทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกนั้นลอกหลุดออกมา และอีกหนึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสีของประจำเดือนนั้น กล่าวได้ว่า ประจำเดือนในแต่ละเดือนจะมีสีที่แตกต่างกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความเก่าหรือความใหม่ของเลือด หากเลือดออกมาในช่วงต้นจะมีสีสด หากเข้าสู่ในช่วงท้ายของการมีประจำเดือนนั้นก็จะมีสีแดงเข้ม เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดจะลดลง

 

        ดังนั้นสีของประจำเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการป่วยเป็นโรคอื่นแต่อย่างใด

 

ประจำเดือนปกติเป็นอย่างไร

 

            กล่าวย้อนไปถึงการเริ่มมีประจำเดือนของผู้หญิง ผู้หญิงนั้นจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยช่วงเวลาที่มีประจำเดือนในแต่ละครั้ง คือ ประมาณ 3-8 วัน ประจำเดือนจะมามากที่สุดภายใน 2 วันแรก เลือดประจำเดือนอาจมีสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะประจำเดือนที่มีสีคล้ำ คือ เยื่อบุโพรงมดลูกเก่าที่ถูกขับออกมาเท่านั้น.

 

            โดยทั่วไป สามารถเตรียมตัวรับมือและรู้ถึงวันที่จะมีประจำเดือนโดยคร่าว ๆ ได้ด้วยการจดบันทึกวันแรกที่ประจำเดือนมา หากประจำเดือนมาตามปกติ จะมาในวันเดียวกันของเดือนถัดไป หรืออาจคลาดเคลื่อนจากวันเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

            ก่อนมีประจำเดือน ผู้หญิงสามารถสังเกตสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงวันที่มีการตกไข่ ซึ่งจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงและรู้สึกผิดปกติในบางคน อาการดังกล่าวเช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ เจ็บหน้าอก หน้าอกขยาย หิวง่าย อยากอาหาร รับประทานมากกว่าปกติ น้ำหนักขึ้น อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนซึ่งจะมีความจำเพาะเจาะจง ไม่สามารถระบุได้ว่าอาการไหนจะเกิดกับใคร ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นปกติ

 

ประจำเดือนไม่ปกติเป็นอย่างไร?

 

            อาการของประจำเดือนมาไม่ปกตินั้นสามารถสังเกตได้จากหลายอย่างเช่น สี ปริมาณ อาการปวดท้อง รอบประจำเดือน หรืออาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงของการมีประจำเดือนหรือก่อนมีประจำเดือน ซึ่งจะสามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  1. สี โดยปกติเลือดที่ออกมาในช่วงวันแรกของการมีประจำเดือนจะมีสีแดงคล้ำเล็กน้อย และจะกลายเป็นสีแดงสดในวันถัดมา หรือบางคนอาจเริ่มต้นรอบด้วยสีแดงสดและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นในช่วงวันท้ายๆ แต่หากพบประจำเดือนสีจางมากๆ หรือสีคล้ายน้ำเหลือง แสดงถึงความผิดปกติของรอบเดือน หากมีสีจางควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที

  2. ปริมาณ ประจำเดือนส่วนใหญ่จะมามากในช่วงวันแรกๆ จากนั้นจึงค่อยๆ ลดปริมาณลงจนหายไปในที่สุด โดยเลือดประจำเดือนในแต่ละ 1 รอบ ต้องไม่เกิน 80 ซีซีหรือในช่วงไม่เกิน 100 ซีซี โดยสามารถสังเกตด้วยตัวเองแบบง่ายๆว่า หากผ้าอนามัยเปียกชุ่มและต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมง  จัดได้ว่าเป็นผู้มีประจำเดือนมากเป็นปกติ  แต่หากต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมงอีกทั้งยังคงเป็นแบบนี้ตลอดช่วงมีประจำเดือนหรือมีประจำเดือนนานกว่า  8 วัน แบบนี้ถือว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกาย เช่น อาจจะเกิดอาการติดเชื้อ  ความเข้มข้นของเลือดจาง  ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือเกิดเนื้องอกมดลูก ทั้งนี้รวมถึงการมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยตลอดทั้งเดือน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน

  3. อาการปวดท้อง ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาปวดท้องทั้งแบบปวดบีบและปวดเกร็งมากถึงประมาณ 70% ซึ่งอาการปวดท้องประจำเดือน เกิดจากการหลั่งสาร โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ซึ่งจะมีการก่อตัวขึ้นบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ในช่วงมีประจำเดือน มีผลทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็ง คล้ายภาวะเจ็บปวดขณะคลอดบุตร ในกรณีที่ร่างกายหลั่งสารปริมาณมากจะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น หรืออาจมีอาการคลื่นไส้และท้องเสียร่วมด้วย แต่หากพบอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงบ่อยมากๆ หรือเกือบทุกครั้งที่มีประจำเดือน อาจเกิดจากเยี่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือมีเนื้องอกในมดลูก 

 

            อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดท้องมากเกินจนรู้สึกผิดปกติ สุขภาพดีดี.com แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจภายใน เพื่อแก้ไขปัญหาการปวดประจำเดือนได้อย่างถูกจุด

 

            รอบประจำเดือน ประจำเดือน หมายความว่า มีเลือดออกจากช่องคลอด  เดือนละ 1 ครั้ง  หรือห่างกันประมาณ 28 + 7 วัน โดยแต่ละรอบควรมาเวลาใกล้เคียงกัน หรือห่างกันไม่เกิน 7-9 วัน   กรณีที่ประจำเดือนขาดหายบ่อยครั้ง หรือมาถี่กว่าปกติ เดือนละ 2-3 ครั้งอาจบ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลหรือเกิดโรคภายในอวัยวะสืบพันธุ์  จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

ประจำเดือนมาไม่ปกติเสี่ยงโรคร้าย

 

            ภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากจะเป็นต้นกำเนิดของการเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเนื้องอกในมดลูก ซึ่งสถิติของประเทศไทยพบว่า จะสามารถพบความผิดปกติได้ในเพศหญิงอายุ 30-40 ปี และมีมากถึง 20-25% จากประชากรผู้หญิงทั้งหมด 

 

            กล่าวถึง เนื้องอกมดลูก คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งแต่อย่างใด สามารถพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก มีขนาดต่างๆกันไป อาจเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ ถ้าเป็นเนื้องอกก้อนเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจสุขภาพหรือปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหาอื่น และอาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษา แต่อย่างไรก็ตามจะต้องทำการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ เพื่อตรวจเช็คว่าเนื้องอกนั้นมีการขยายขนาดหรือไม่

            สามารถสังเกตเนื้องอกขนาดโต จากอาการผิดปกติของประจำเดือน ดังนี้

  • มีประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ
  • มีอาการปวดหน่วงๆ ที่ท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
  • มีอาการปวดขณะร่วมเพศ
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด
  • คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง

การป้องกันเนื้องอกมดลูก

            แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถทราบสาเหตุของการเกิดภาวะเนื้องอกในมดลูกได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยหลากหลายอย่าง จึงไม่มีวิธีการที่สามารถป้องกันได้100% แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถดูแลร่างกายจากการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ จะทำให้สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกในมดลูกและพัฒนาไปเป็นเนื้อร้ายในอนาคตได้ อีกทั้ง สุขภาพดีดี.com แนะนำว่า ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการ

 

            ถึงแม้ว่าเนื้องอกมดลูกไม่มีอาการใดๆ หรือเนื้องอกมีขนาดเล็กมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อเข้ารับการตรวจติดตามอาการ ด้วยความห่วงใยจาก สุขภาพดีดี.com

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 0 / 5. Vote count: 0