นอนกัดฟัน อันตรายกว่าที่คิด
สุขภาพดีดี.com ใส่ใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรืออาการเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ อยากให้ทุกท่านมีสุขภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งวันนี้สิ่งที่จะมานำเสนอคืออาการนอนกัดฟัน ซึ่งถ้าไม่บอกอาจจะไม่รู้ว่า นอนกัดฟัน อันตรายกว่าที่คิด มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
การนอนกัดฟันคืออะไร? |
การนอนกัดฟันเป็นอาการผิดปกติที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติในขณะที่หลับ โดยมีลักษณะการกัดฟันแบบขบฟันแน่นๆ หรือมีการกระทบของฟันบนและฟันล่างถูไถกันซ้ำๆ
ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงอาจมีอาการดังกล่าวมากกว่า 80 ถึง 100 ครั้ง คนนอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเองคล้ายกับคนที่นอนกรนซึ่งก็มักไม่รู้ตัวเองเช่นกัน เนื่องจากบางคนนอนคนเดียวมาตลอดจนเมื่อต้องไปนอนกับคนอื่นถึงได้รู้ว่าเรามีความผิดปกติตอนนอนโดยมีอาการกัดฟัน
การนอนกัดฟันที่มีลักษณะขบฟันแน่น ๆ มักไม่มีเสียงดังทำให้ไม่มีผู้ใดได้ยิน คนที่นอนกัดฟันแบบนี้จะมาไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนนอนกัดฟัน ดังนั้นนอนกัดฟันตัวเองจึงจัดเป็นภัยเงียบที่ท่านอาจไม่รู้ตัวได้
สาเหตุของการนอนกัดฟัน |
สาเหตุของการนอนกัดฟันโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาจากภาวะของความเครียดและความวิตกกังวล มักจะเกิดในช่วงเวลาที่กำลังนอนหลับโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังนอนกัดฟันอยู่ หรืออาจมีสาเหตุจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสให้เกิดการนอนกัดฟัน ได้แก่
- อายุ การนอนกัดฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็ก และโดยทั่วไปหากเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอาการนั้นจะหายไปเอง
- บุคลิกภาพหรือนิสัยส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบการแข่งขัน หรือสมาธิสั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการนอนกัดฟันได้
- สารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- การใช้ยารักษาโรค การนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท ซึ่งรวมไปถึงยาทางจิตเวชที่มีผลกระทบต่ออารมณ์หรือจิตใจ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า และยารักษาอาการทางจิต เป็นต้น
ผลเสียของการนอนกัดฟัน |
- ฟันมีปัญหา เนื่องจาก ฟันสึก ฟันสั้นลง ฟันบาง คอฟันสึกเป็นร่อง และมีอาการเสียวฟัน เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ฟันยิ่งสึกมากจะมีปัญหาเรื่องความสวยงามตามมา เนื่องจากการที่ฟันสั้นลงจะทำให้ใบหน้าสั้นลง
- ปัญหาเรื่องของประสาทฟัน เนื่องจากการกัดฟันทำให้ ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว สึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาฟัน
- ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร หากมีอาการกัดฟันเป็นระยะเวลานานทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้ เพราะอาการปวดส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและอารมณ์จิตใจ
- กระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน บางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม
- เกิดปัญหากับคู่นอน ในกรณีที่เป็นคู่สามีภรรยานอนห้องเดียวกัน การนอนกัดฟันอาจจะเป็นการรบกวนคู่นอนได้ เนื่องจากการกระทบกันของฟันจะทำให้เกิดเสียงรบกวน ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจจะทำให้ต้องแยกห้องนอนได้
การรักษาการนอนกัดฟัน |
การรักษาผู้ที่นอนกัดฟันจะมีความจำเป็นในกรณีที่มีความรุนแรง ซึ่งวิธีการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ 1. การรักษาทางทันตกรรม 2. การบำบัดและการใช้ยารักษาโรค ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ทำการวินิจฉัยว่าวิธีการใดที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด
วิธีที่ 1 : วิธีทางทันตกรรม |
- เฝือกสบฟันหรือฟันยาง ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันถูกทำลายจากการบดเคี้ยวและการขบเน้นฟัน ทำจากอะคริลิกแข็งหรือวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม โดยทันตแพทย์จะให้ใส่ระหว่างนอนหลับ
- การจัดฟันหรือแก้ไขทางทันตกรรม การแก้ไขฟันที่มีปัญหาให้เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาการนอนกัดฟันที่มีสาเหตุทางทันตกรรมได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีฟันที่เสื่อมสภาพและทำให้เกิดอาการเสียวฟันหรือทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหา ทันตแพทย์อาจทำการปรับแต่งพื้นผิวฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวหรือที่มีการครอบฟัน ในบางรายทันตแพทย์อาจแนะนำให้มีการจัดฟันหรือการผ่าตัด
วิธีที่ 2 : การบำบัดรักษา |
- การจัดการกับความเครียด หากมีภาวะกัดฟันเป็นประจำหรือนอนกัดฟันที่มีสาเหตุมาจากความเครียด สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ด้วยการพบผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพหรือมองหาวิธีที่ช่วยให้มีการผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกายหรือการนั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยนั้นมีการโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองชอบมากขึ้น เช่น งานอดิเรกต่างๆ เป็นต้น
- การบำบัดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อพบว่ามีการนอนกัดฟัน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยการฝึกฝนการวางตำแหน่งของปากหรือขากรรไกรให้เหมาะสม ซึ่งทันตแพทย์จะแสดงตำแหน่งของฟันและขากรรไกรที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน
- ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ยากลำบาก อาจใชัวิธีฝึกไบโอฟีดแบ็ค ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการทำงาน การหดตัว การคลายตัวของกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถรู้จุดบกพร่องและทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อที่ขากรรไกรได้อย่างถูกต้อง
- ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์อาจให้ใช้ในบางรายด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- การฉีดโบทอกซ์ (OnabotulinumtoxinA: Botox) การฉีดโบทอกซ์เป็นการทำให้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นๆทำงานน้อยลง ซึ่งในกรณีการฉีดโบทอกซ์นั้นจะช่วยผู้ที่มีการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการบรรเทารักษาอื่น ๆ