มะเร็งลำไส้ใหญ่น่ากลัวกว่าที่คิด
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาการและความร้ายแรงของโรคมะเร็งเป็นอันดับที่ 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย และจัดอยู่ในอันดับ 4 ของสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะอันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ และตรวจคัดกรองได้ อีกทั้งยังสามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน วันนี้ สุขภาพดีดี.com จะมาอธิบายถึง มะเร็งลำไส้ใหญ่น่ากลัวกว่าที่คิด ให้ทุกท่านได้อ่านกัน
ปกติแล้วผู้ป่วยโรคนี้จะพบมากในคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ประมาณ 11,000-12,000 คนต่อปีเลยทีเดียว พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย โดยความเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนี้มาจากพันธุกรรม และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือการดูแลตนเองที่สะสมเป็นเวลานาน
พฤติกรรมสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมากจะมาจากการรับประทานอาหาร ได้แก่ การชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีใยอาหารน้อย ไม่ค่อยกินผักและผลไม้ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร ? |
ลำไส้ใหญ่ เป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร มีลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 6 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผนังประกอบด้วยกล้ามเนื้อ ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ดูดซึมนํ้าจากอาหารที่เรากินเข้าไป และเป็นที่เก็บกากอาหารก่อนที่จะขับถ่ายออกจากร่างกายทางทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่พบบ่อยเกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งการเจริญเติบโตของเนื้อนั้นจะค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน ซึ่งหากมีการเจริญเติบโตของติ่งเนื้อแล้วจะทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “มะเร็ง” ดังนั้นถ้าหากผู้ป่วยทำการตรวจและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถดำเนินการรักษาได้อย่างรวดเร็วโดยการผ่าตัดออก และสามารถป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้อนั้นพัฒนาหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ แต่หากมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ก้อนมะเร็งจะลุกลามทะลุผนังลำไส้ ซึ่งในกรณีที่ป่วยหนักและเป็นระยะเวลานานแล้วจะทำให้เชื้อมะเร็งที่เกิดขึ้นจากลำไส้นั้นแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆในร่างกาย และทำให้ระบบในร่างกายล้มเหลว
อาการที่เข้าข่ายการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ |
ถ้าหากมีอาการหรือสัญญาณเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
- พบประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีอาการปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย
- น้ำหนักลดอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ตัวซีดลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกท้องเสียสลับกันแบบเรื้อรัง
- รู้สึกปวดเบ่งหรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุดทุกครั้งที่มีการถ่าย
- ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรืออุจจาระมีเลือดปน
- คลำเจอก้อนเนื้อในช่องท้องหรือจับแล้วเจอก้อนบริเวณท้อง
ระยะของโรคมะเร็ง |
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้นแบ่งระยะของโรคออกเป็น 4 ระยะคือ
- ระยะที่ 1
ในช่วงเริ่มต้นของการป่วย จะพบติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในเยื่อบุผนังลำไส้ เมื่อติ่งเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มฝังตัวในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่แต่ไม่ทะลุชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ โดยที่ยังไม่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่นหรือลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง ระยะนี้แพทย์จะผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออก
- ระยะที่ 2
ก้อนมะเร็งจะกระจายออกมาสู่ผนังลำไส้ใหญ่และทวารหนักส่วนนอกหรือไปเนื้อเยื่อใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง ซึ่งการรักษาจะซับซ้อนกว่าระยะแรก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออก ซึ่งกระบวนการการรักษาต่อไปนั้นจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งในบางรายอาจจะต้องให้เคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัดด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมะเร็งนั้นกระจายไปในส่วนอื่้นๆ หากก้อนมะเร็งอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัดด้วย
- ระยะที่ 3
เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งแพร่กระจายออกจากลำไส้ใหญ่เข้าไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่บริเวณรอบๆ แต่ยังไม่เกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ระยะนี้แพทย์จะดำเนินการทำการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออก ร่วมกับการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด หากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัด
- ระยะที่ 4
เป็นระยะสุดท้ายที่ก้อนมะเร็งนั้นได้ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง หรืออวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งส่วนที่เป็นอันตรายมากที่สุดคือตับและปอด หากเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว โอกาสในการหายขาดนั้นจะน้อยลงมาก และมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต เนื่องจากมะเร็งนั้นกระจายไปหลายส่วนของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะทำการให้ยาเคมีบำบัดและพิจารณาใช้ยาที่เฉพาะเจาะจงกับการออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง
การป้องกันโรค |
การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และหายแล้ว อาจจะมีโอกาสที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกทั้งส่วนเดิมที่เคยเป็นโรคหรือแม้กระทั่งบริเวณอื่นๆในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องได้รับการตรวจติดตามอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งหลังจากการรักษาแพทย์จะมีการติดตามผลเป็นระยะ โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3-6 เดือน และในช่วง 3-5 ปีหลัง แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 6 เดือน ในการนัดแต่ละครั้งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอและควรนำญาติสายตรงหรือผู้ให้การดูแลผู้ป่วยมาด้วย เพื่อที่จะได้แบ่งปันข้อมูลและร่วมปรึกษาถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้
นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรค โดยจำกัดการบริโภคเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง เพิ่มเกราะป้องกันให้ตัวเองโดยการบริโภค ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี