ยาพาราเซตามอลอันตรายไหม

  • Last modified on:3 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:23Words
  • PostView Count:152Views

ยาพาราเซตามอลอันตรายไหม?

 

           ทุกคนน่าจะคุ้นชื่อ “พาราเซตามอล” กันดีเนื่องจากยาพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน หลายบ้านยังมีติดไว้เพื่อใช้ในการลดไข้และบรรเทาอาการปวดในชีวิตประจำวัน ถือเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายเนื่องจากสามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน เป็นต้น และจากคำถามของหลายๆคนที่ถามว่า ยาพาราเซตามอลอันตรายไหม? วันนี้ สุขภาพดีดี.com มีคำตอบว่า ยาพาราเซตามอลจัดเป็นยาที่ไม่อันตราย แต่ในขณะเดียวกันหากมีการใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน


            หากอ้างอิงถึงรายงานของกรมการแพทย์ ที่ระบุว่า ในปี 2553 คนไทยกินยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณประมาณ 47,000 ล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 128 ล้านเม็ดต่อวัน โดยซื้อทานเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยที่ต้องการรับประทานทั้งหมด ทั้งอาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย และยาพาราเซตามอลก็เป็นอันดับ 1 ที่คนเลือกรับประทาน

 

            ยาพาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวด และลดไข้ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด บางคนกินแก้หวัด ป้องกันหวัด หรือแก้ปวดเมื่อย ข้อดีคือไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่แท้จริงแล้วมีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดคือการเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป ถึงแม้ว่าจะเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ก็ตาม (เภสัชกร ณรงค์ศักดิ์ ใบเนียม, 2560)

 

            จากการสำรวจวิจัยทั้งในประเทศ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างมีอัตราการรับประทานยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากพิษของพาราเซตามอลที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับนั้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสอาการเกิดภาวะตับเป็นพิษ (hepatotoxicity) และอาการตับวายเฉียบพลันได้ (acute liver failure) 

 

            แม้ว่าไม่ได้รับประทานพาราเกินขนาดก็ตาม แต่ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือดื่มเป็นประจำ, ผู้สูงอายุ, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ, ผู้ที่มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ, ผู้ที่รับประทานยาชนิดอื่นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มักจะมีภาวะเนื้อเยื่อตับถูกทำลายและผิดปกติ โอกาสที่การทำงานของตับจะกลับคืนสู่สภาพปกติจะยากกว่าคนทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสเกิดภาวะความเป็นพิษของยาต่อตับนั้นรุนแรงกว่าคนปกติ

            จึงมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นการให้ความรู้ต่อทุกคน นำไปสู่การใช้ยาที่เกิดประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

 

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล

            ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองของมนุษย์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และจะชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิหรือลดไข้ของร่างกายลงยา

 

การใช้ยาพาราเซตามอล

 

  1. ในการ ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
  2. ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน
  3. สามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  4. ระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องหรือน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา
  5. เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา
  6. กรณีลืมกินยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ปัญหาที่พบจากการใช้ยาพาราเซตามอล

            ใช้ยาเกินความจำเป็น
            การกินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะการกินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น

            ใช้ยาเกินขนาด
            การกินยาพาราเซตามอลต่อครั้ง ข้างกระปุกแนะนำการกินจะระบุว่าต้องกินยาขนาด 1-2 เม็ด ถ้าหากกินมากเกิน 2 เม็ด ต้องดูที่น้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าสัมพันธ์กับขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หรือไม่ ถ้าหากนำน้ำหนักตัวผู้ป่วยมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด

            ใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ
            พบว่าบางรายมีการใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาดักไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

 

อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด

อาการแสดงของการใช้ยาเกินขนาดจะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

 

            ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ

            ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดงที่แน่ชัด ในแต่ละรายอาจจะมีอาการที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับในเลือด เริ่มสูงขึ้น

            ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล

  • หากรู้สึกผิดปกติหรือมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 0 / 5. Vote count: 0