อันตรายของเลือดกำเดา

  • Last modified on:3 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:8Words
  • PostView Count:199Views

อันตรายของเลือดกำเดา

 

           เชื่อว่าทุกคนคงจะพอทราบเรื่องของ อันตรายของเลือดกำเดา มาบ้างแล้ว ซึ่งหากเกิดอาการเลือดกำเดาไหล ทุกคนคงมองว่าอาจจะเป็นความผิดปกติทางร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรือเป็นอาการผิดปกติธรรมดาที่สามารถหายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาการเลือดกำเดาไหลเกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก หรืออาจจะเกิดจากการแคะจมูก หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ความจริงที่ทุกคนอาจเผลอลืมไปหรือไม่ทราบก็คือ เลือดกำเดาไหล ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่บอกเราได้ว่า เราอาจกำลังจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ก็ได้ ดังนั้น การทำความรู้จักกับอาการเลือดกำเดาไหลให้ลึกซึ้งมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เราประเมินอาการและความเสี่ยงของโรคภัยได้อย่างเท่าทันมากขึ้น สุขภาพดีดี.com มีข้อมูลดีๆมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ

 

เลือดกำเดาไหลคืออะไร?

 

           “เลือดกำเดาไหล” หรือ “Epistaxis” เป็นภาวะเลือดออกทางจมูก ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. ภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า ซึ่งจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงมากนัก และ 2. ภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าด้านหน้า จึงทำให้มีอาการรุนแรงกว่า มีเลือดออกปริมาณมากกว่า และสามารถทำให้มีเลือดออกทางปากได้ ซึ่งจะสามารถกล่าวได้ว่า ถ้าหากผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าจะมีเลือดออกทางโพรงจมูกด้านหลังนั้นก็จะทำให้ผู้ป่วยนั้นกลืนลงไป และส่งผลทำให้มีอาการอาเจียนเป็นเลือดในภายหลัง หรือแม้กระทั่งหากลงปอดก็อาจจะทำให้ไอเป็นเลือดได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะเลือดออกทางจมูกที่มาจากด้านหลังโพรงจมูก มักมีสาเหตุมาจากอันตรายที่ร้ายแรงกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า

 

ทำไมถึงเลือดกำเดาไหล?


           สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ภาวะโรคในจมูก และ ภาวะร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. เลือดกำเดาไหลเพราะภาวะโรคในจมูก คือ การติดเชื้อต่างๆ ที่ทำให้มีแรงดันขึ้นไปทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือจาม จนเส้นเลือดฝอยแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหลออกมา หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ถูกกระแทกจนกระดูกหัก ผนังจมูกคด ก็ทำให้เลือดกำเดาไหลได้ รวมถึงการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาภูมิแพ้ ถ้าพ่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผนังจมูกบางและเป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน
  2. เลือดกำเดาไหลเพราะความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกันกับการบกพร่องของการแข็งตัวของเลือด รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคตับ หรือโรคที่ต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดออกง่าย หยุดยาก โดยมันจะเ็นไปตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุโพรงจมูก หรือแม้กระทั่งไรฟัน 


           ทั้งนี้ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกจนเลือดกำเดาไหลนั้น ถือเป็นปลายเหตุที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดออก ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งมีก้อนที่จมูก หรือมีปัญหาโรคเลือดก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องวินิจฉัยให้พบ เนื่องจากปกติแล้วเส้นเลือดของคนเรามีความแข็งแรงจะไม่แตกได้ง่ายๆ ยกเว้นแต่มีสาเหตุกระตุ้นให้แตก เช่นไปกระแทก เกิดอุบัติเหตุ หรือขาดวิตามินต่างๆ อย่างวิตามินเค ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย

 

เลือดกำเดาไหลแบบไหนถึงต้องไปพบแพทย์?

 

           วิธีการสังเกตอาการเลือดกำเดาไหล ว่าเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่มากแค่ไหน สามารถสังเกตได้จากลักษณะการไหลของเลือดและสีของเลือดที่ไหลออกมา โดยหาพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหลในลักษณะดังต่อไปนี้ การรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยคือหนทางที่ดีที่สุด

  1. เลือดกำเดาไหลบ่อย ไหลซ้ำบริเวณรูจมูกข้างเดิมข้างเดียวตลอด
  2. เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก แม้จะเป็นครั้งเดียวแต่ก็ควรไปพบแพทย์
  3. เลือดกำเดาไหลในลักษณะเป็นก้อนลิ่มเลือด
  4. เลือดกำเดาไหลนานต่อเนื่องไม่หยุดภายใน 10 นาที
  5. สังเกตสีของเลือดกำเดา ถ้ารุนแรงจะเป็นสีแดงเข้ม ถ้าไม่รุนแรงจะเป็นสีชมพู
  6. เลือดกำเดาไหลร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก หูอื้อ รู้สึกมีก้อนในโพรงจมูกหรือที่คอ

เลือดกำเดาไหล สัญญาณเตือนภัยโรคร้ายอะไรได้บ้าง?

           เมื่อเกิดเลือดกำเดาไหลขึ้น โดยเฉพาะยิ่งเป็นบ่อยๆ จึงไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุ ทั้งนี้ เลือดกำเดาไหล อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตได้ อาทิ

  1. เนื้องอก
    สาเหตุ: มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เกิดขึ้นในจมูก ไซนัส หรือหลังโพรงจมูก
    อาการ: เลือดออกเป็นบางครั้ง หรือเลือดออกจมูกปริมาณมากควรส่องกล้องตรวจโพรงจมูก หรือเอกซเรย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
  2. การระคายเคือง หรือบาดเจ็บในจมูก
    สาเหตุ: เกิดจากการแคะจมูกบ่อย ได้รับแรงกระแทกที่จมูก สั่งน้ำมูกแรงๆ อากาศแห้งความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้นเครื่องบิน
    อาการ: เลือดมักออกไม่มาก และเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจมีเลือดออกช้ำในช่วงที่ใกล้หาย
  3. การอักเสบในโพรงจมูก
    สาเหตุ: จากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ใช้เครื่องอัดอากาศขณะหลับ
    อาการ: มีเลือดออกปนมากับน้ำมูก เวลาทำการสั่งน้ำมูก
  4. ความผิดปกติทางกายวิภาค
    สาเหตุ: ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอกผิดที่ รวมถึงมีรูทะลุทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศ
    อาการ: เลือดมักไหลในจมูกข้างเดิม และเป็นซ้ำในจุดที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือมีกระดูกงอก

เมื่อเลือดกำเดาไหลปฐมพยาบาลอย่างไรดี?

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับคนที่มีอาการเลือดกำเดาไหลเกิดขึ้นนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือ หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำอยู่ในทันที ห้ามยืน หรือเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการหน้ามืดหมดสติและเป็นลมล้มลงได้ หากเลือดออกในปริมาณมาก
  2. จัดท่าทางตัวเองให้อยู่ในลักษณะนอนเอนลงที่ไม่ให้ศีรษะต่ำจนเกินไป โดยจัดให้อยู่ใน “ท่านอนศีรษะสูง ลักษณะนอนเตียงผ้าใบชายหาด” ให้ศีรษะตั้งสูงขึ้นมาพอประมาณ เพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนไปที่จมูกมากขึ้น และป้องกันการสำลัก ทั้งนี้ ห้าม!!! แหงนศีรษะขึ้นเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการทำให้สำลักเลือดได้
  3. หากเลือดออกที่จมูกด้านหน้าในปริมาณมาก ให้บีบจมูกเอาไว้ และหายใจทางปากแทน และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  4. ในกรณีที่เลือดไหลปริมาณน้อย อาจห้ามเลือดด้วยการประคบน้ำเย็น แต่ที่ช่วยได้ดีมากกว่าคือ บีบจมูกแล้วอมน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเอาไว้ เพราะบริเวณเพดานปากเป็นตำแหน่งของเส้นเลือด การอมน้ำแข็งจึงช่วยประคบห้ามเลือดได้ตรงจุดมากกว่า

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 0 / 5. Vote count: 0