แพทย์พระมงกุฏ ออกโรงเตือน หน้ากากผ้า ไม่ปลอดภัย
ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 พ.อ.(พิเศษ) นพ.ธนะพันธ์ พิบูลย์บรรณกิจ (facebook : Tor Phiboonbanakit ) ที่ปรึกษาแผนกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพระมงกุฏ ในนาม แพทย์พระมงกุฏ โพสข้อความหัวข้อ “เรื่องบางเรื่องถูกมองข้าม … ทั้งที่อยู่แค่สันจมูก”
โดยเนื้อหา ได้พูดเรื่องเกี่ยวกับการเลือกใช้ชนิดของหน้ากาก ที่ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ว่า หน้ากากผ้า เลี่ยงได้เลี่ยง เนื่องจากประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำได้ดีเพียงเรื่องของการกันเชื้อออก แต่กลับกัน
ไม่กันเชื้อจากภายนอกเข้ามา เนื่องจากไม่มีสันจมูก ที่เป็นแถบโลหะ ไว้กด เพื่อให้แนบกับหน้ามากที่สุด พูดไปเชื้อก็หลุดไปในอากาศ เสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม ชี้หน้ากาหลุดเมื่อไหร่ เสี่ยงเมื่อนั้น ไม่ว่าจะตอนทานข้าว หรือ เผลอทาน
ระบุ สถานการณ์ของการระเบิดเปลี่ยนไปแล้ว กินพื้นที่วงกว้าง และ ไม่มีที่ปลอดภัยอีกต่อไป ให้คิดว่าทุกคนที่เจอติดแล้ว เพราะเป็นการป้องกันตัวเองให้ไม่ประมาท
โดยเนื้อหาภายในระบุว่า
1. กลุ่มที่รอวัคซีนทางเลือก เพื่อฉีดเข็ม 1 และ 2 ต้องให้ทราบว่า กว่าจะได้วัคซีนมาต้องอีกอย่างน้อย 3 เดือน …ช่วงนี้พวกคุณจะทำอย่างไร?
2. กลุ่มที่ต้องการวัคซีนเข็ม 3 หลังได้วัคซีน (ภาคบังคับ) ครบ 2 เข็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคุณหมอ และ บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งสตินะครับ เราต้องเป็นตัวอย่างในการ “รอ” ให้ผลการศึกษาชัดเจน และได้รับการรับรองวัคซีนอย่างเป็นทางการ จนเป็น Standard Recommendation แม้ว่าแนวโน้มขณะนี้ จะ “เชื่อว่า” คงต้องฉีดแน่ … ก็เหมือนกัน ถ้าไม่วางใจผลลัพธ์ของวัคซีน พวกเราจะทำเช่นไร?
ถ้าไม่ฉีด เพราะไม่เชื่อวัคซีนที่รัฐ (บังคับ) จัดให้ หรือ ฉีดแล้ว แต่ก็ไม่น่าไว้ใจว่าวัคซีนที่ได้ว่าจะเอาอยู่ ให้ตั้งสติ แล้วย้อนกลับไปถามตัวเองว่า … ที่ผ่านมา รอดจากการติดเชื้อCovid-19 มาได้อย่างไร?
เรามัวแต่วุ่นวายกันแต่เรื่องของชนิดของวัคซีน และปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ … จนลืม “concept” เบื้องต้นที่ว่า … ไม่รับเชื้อมาไม่มีทางเป็นโควิด
1. ไม่รับเชื้อโดยซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้าน ติดต่องานผ่าน intetnet … ตุนของไว้กิน .. สุดท้ายก็หมด … ก็ต้องออกมาอยู่ดี … ดังนั้นการซ่อนตัว … ไม่ใช่ทางออกในท้ายที่สุด
2. ไม่รับเชื้อโดยใส่หน้ากาก ไปทุกที่ … ถ้าล้างมือ ถือระยะห่างคงปลอดภัย แต่สิ่งที่ไม่มีใครประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบคือ … ในวันก่อน ในยามที่รอบตัวมีคนติดเชื้ออยู่ไม่มาก ไปไหนมาไหนด้วยหน้ากากผ้า แม้โดยทฤษฎี จะปัองกันเชื้อออก แต่ไม่กันเชื้อเข้า อาจไม่มี และส่งผลกระทบมากนัก … เพราะโอกาสเจอเชื้อ สัมผัสโรคแบบจังๆ คงยากและน้อย แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไป มองไปทางไหน น่าสงสัยว่าจะมีคนที่มีเชื้ออยู่ ดังนั้น การที่ยังส่งเสริมการใช้หน้ากากผ้า สำหรับประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องที่เสี่ยง และน่าจะไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ข้อเสียอีกประการของหน้ากากผ้า คือ ไม่มีสันโลหะที่ใช้คีบดั้งจมูก ดังนั้น พูดไปหลุดไป อารมณ์เดียวกับใส่ Surgical Mask แล้วไม่ปรับลวดตรงสันจมูกให้เข้าแนบกับใบหน้า … หน้ากากที่ดี ต้องสามารถปรับให้แนบกับหน้าให้มากที่สุด เพื่อป้องกันเรื่องการหายใจเข้าออก
ดังนั้น รัฐต้องเร่งจัดหาหน้ากากอนามัยในระดับ Surgical Mask แบบที่แพทย์พยาบาลใส่กัน จำหน่ายในราคาถูกหรือแจกจ่าย พร้อมประชาสัมพันธ์ แนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้อง แก่ประชาชนทั่วไปโดยเร็ว อย่างทั่วถึง
แพทย์พระมงกุฏ
พ.อ.(พิเศษ) นพ.ธนะพันธ์ พิบูลย์บรรณกิจ ได้ออกมาอธิบายในวันที่ วันที่ 28 มิถุนายน 2564
เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นของการเลือกหน้ากาก และ คุณสมบัติแต่ละแบบของหน้ากากอนามัย
โดยมีหัวข้อว่า “ไหนๆก็ไหนๆแล้ว …ว่ากันให้กระจ่างเสียเลย”
1. หน้ากากที่เราใช้กันในยุคของโควิด มี 2 แบบ คือ หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask กับ N95)
2. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ออกแบบมาเพื่อการ “ป้องกัน” เชื้อโรค ขนาดต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย ด้วยวิธีการที่ต่างกัน สำหรับ surgical mask จะป้องกันการติดเชื้อแบบฝอยละอองขนาดเล็กที่มากับละอองเสมหะ ส่วน N95 ป้องกันอนุภาคไวรัสขนาดจิ๋ว ที่แขวนลอยมาในอากาศ ปัจจุบันใน รพ ยังถือว่าหน้ากากอนามัยทั้ง 2 แบบเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในการป้องกันการติดเชื้อ ของระบบทางเดินหายใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
3. หน้ากากผ้า ส่วนใหญ่ เป็นหน้ากากที่บุคคลทั่วไป นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หน้ากากผ้าจะมีความเหมือนกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในด้านที่สัมผัสกับปาก จมูก และใบหน้าผู้ป่วย กล่าวคือ จะดูดซับเสมหะขนาดใหญ่ ที่ออกมา (พร้อมกับเชื้อโรค) โดยตรงจากทางเดินหายใจของผู้ใช้ เมื่อมีการพูด ไอ จาม นั่นคือความหมายที่ผมเขียนไว้ว่า ”หน้ากากผ้า (ดีพอที่จะ) กันเชื้อออก”
แต่ความต่างที่ชัดเจน ระหว่างหน้ากาก 2 ชนิดนี้ คือ ความสามารถในการดักกรอง เขื้อไวรัสโควิดที่ติดมากับฝอยละอองขนาดเล็ก (surgical mask) หรือมาในรูปอนุภาคขนาดจิ๋ว (N95) ที่ปลิวมาในอากาศ เนื่องจากหน้ากากผ้าจะมีความห่างระหว่างใยผ้า ที่กว้างกว่ารูเล็กๆที่ออกแบบมาสำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ นั่นคือที่มาว่า “หน้ากากผ้าไม่ดีพอจะกันเขื้อเข้า” ที่สำคัญ ในขณะนี้ ยังไม่มีการนำหน้ากากผ้า ไม่ว่าจะมาตรฐานใด มาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยใน รพ เลย
4. การใส่ให้ถูกวิธีก็สำคัญ คือต้องแนบไปกับรูปหน้า ยิ่งถ้าหน้ากากไม่มีสันที่จมูก จะเลื่อนหลุดอยู่บ่อยๆ
ดังนั้นจะได้ประโยชน์สูงสุดจากหน้ากากอนามัยในการ “ปัองกันเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย” คือ การจับกรองได้ดี และใส่ได้ถูกต้องตลอดเวลา ที่ใช้ ในโพส ผมต้องการสื่อว่า ช่วงที่น่าเป็นห่วงว่าจะติดกัน คิอตอนเอาหน้ากากออก ช่วงรับประทานอาหาร “ร่วมกัน” ไม่ใช่ตอนทานคนเดียว จะได้ตอบคำถามที่ว่าไม่เอาหน้ากากออกจะทานข้าวอย่างไร?
5. ในช่วงต้นของโควิด มีคำแนะนำให้ใช้หน้ากาก “เฉพาะ” ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ถ้าจำได้ มีช่วงความขาดแคลนของหน้ากากอนามัย ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยไม่มาก ผู้ใช้หน้ากากผ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป จึงมักไม่ค่อยได้รับผลกระทบ พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะใช้หน้ากากแบบใด ก็จะเสี่ยงกับการติดเชื้อไม่มากนัก เนื่องจากโอกาสจะไปปะหน้ากับผู้ที่มีเชื้อจะน้อยมาก …ยกเวันเข้าร่วมสถานที่หรือกิจกรรมเสี่ยง แต่จะเห็นว่าแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ป่วยมากกว่า ยังยึดการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์อยู่ตลอดเวลา
6 ณ ปัจจุบัน เราเห็นการติดเชื้อมากขึ้น ทั้งปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ที่หลบหลีกวัคซีนได้ ประเด็นการพบผู้ป่วยมากขึ้น แปลว่า เมื่อเทียบกับปีก่อน ถ้าตอนนี้เราออกไปนอกบ้าน โอกาสที่เราจะพบคนที่มีเชื้อก่อโรคโควิดอยู่จะมีมากขึ้น ถ้าเกราะที่เราใส่ ไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอที่จะป้องกัน (เช่นกรณีหน้ากากผ้า ดังนำเสนอจุดอ่อนในการป้องกันการนำเขื้อเข้า มาในเบื้องต้น) โอกาสที่เราจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายก็จะมีสูงขึ้น ถ้าไม่เอ่ยปากให้คำแนะนำ ก็เปรียบเสมือนผมนั่งมองคนของเรา ถือตะเกียบไปรับหอกรับดาบของคู่ต่อสู้ …ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแนวทางการปฏิบัติตัวก็ต้องปรับตามให้เหมาะสม
ในขณะที่วัคซีนยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตาม อีกทั้งเชื้อกลายพันธุ์ที่มีอยู่รอบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเดียวที่เชื้อไวรัสโควิดฝ่าไปไม่ได้ นอกจากล้างมือ ถือระยะห่างแล้ว คือการปรับมาใช้หน้ากากที่เชื่อมั่นได้ว่าถ้าใช้ถูกต้อง จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด ด้วย concept ที่ว่า แม้เชื้อจะกลายพันธุ์ ตัวมันก็ไม่เล็กลง จนทะลุแนวป้องกันของหน้ากากอนามัยเข้ามาได้ (แต่ผ่านหน้ากากผ้าได้) ดังนั้น เมื่อเชื้อเข้ามาไม่ได้ เราก็จะไม่ติดเชื้อ
สรุป หน้ากากผ้า เหมาะกับคนป่วย ใช้เพื่อลดการแพร่เชื้อ หน้ากากอนามัยเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้าจะใส่ 2 ชั้น…หน้ากากอนามัยแนบหน้า หน้ากากผ้า เอาไว้ข้างนอก…เสมอ
ขออนุญาตร่ายยาว เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ เพราะตอนที่โพสกระทู้ไปเมื่อวาน อารมย์เหมือนตอนผมราวด์กับนักเรียนแพทย์ ซึ่งไม่ได้อธิบายความโดยละเอียด เพราะไม่คาดว่าเรื่องนี้จะได้รับการแชร์ออกไป จนเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปด้วย
โพสนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับใคร เพียงแต่ผมอยากนอนหลับฝันดีเท่านั้น
ป้ายกำกับ:
KF94 ,
KN95 ,
N95 ,
กันเชื้อ ,
การป้องกันเชื้อ ,
ชุดกันเชื้อ ,
บทความสุขภาพ ,
ป้องกันเชื้อโรค ,
พระมงกุฏ ,
หน้ากาก ,
หน้ากากการแพทย์ ,
หน้ากากผ้า ,
หน้ากากอนามัย ,
หน้ากากเด็ก ,
หมอ ,
ออกโรงเตือน ,
เชื้อ Covid ,
เพื่อคนสุขภาพดี ,
แพทย์ ,
แพทย์พระมงกุฏ ,
โควิด-19 ,
ไม่ปลอดภัย