โควิดสายพันธุ์โอไมครอน อันตรายไหม
สถานการณ์ปัจจุบันนี้มีการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ทั่วโลก สร้างความตื่นตระหนกให้กับทุกคนว่าสายพันธุ์นี้อันตรายกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่ เนื่องจากการค้นพบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีความผิดปกติมากกว่าสายพันธุ์ปกติมาก เนื่องจากมีการแพร่เชื้อและหลบเลี่ยงวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงอ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวแอฟริกาใต้รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ โควิดสายพันธุ์โอไมครอน มาให้ทุกคนได้อ่านและทำความรู้จักกันเนื่องจากมีคำถามสอบถามแอดมินมาอย่างล้นหลามว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอน อันตรายไหม ซึ่งวันนี้แอดมินมีคำตอบให้ทุกท่านแล้วค่ะ มาเริ่มทำความรู้จักกันเลย
โอไมครอนคืออะไร? |
โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 หรือที่องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า “โอไมครอน” (Omicron) ที่ตรวจพบในแอฟริกาใต้ ถูกจัดให้เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) เช่นเดียวกับสายพันธุ์อัลฟา, สายพันธุ์เดลตา, สายพันธุ์แกมมา และสายพันธุ์เบตา
เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นตัวก่อโรคโควิด-19 พบเชื้อกลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) มีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง
โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain)
ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเรามากกว่า 10 ตำแหน่ง ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา (Delta) มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นภูมิจากวัคซีนแล้วก็ตาม
อาการของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอน |
พบว่าผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน จมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี ไม่ค่อยมีไข้ แต่พบว่ามีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ (ซึ่งอาการคล้ายกับสายพันธุ์เดลต้า) ปัจจุบันข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าอาการจะรุนแรงกว่าหรือไม่
วัคซีนเอาอยู่ไหม? |
เนื่องจากโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจึงทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนามาเพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกในอู่ฮั่นจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อต้องรับมือกับโอไมครอน
AstraZeneca : แถลงว่ากำลังทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนนี้และผลกระทบต่อวัคซีน และกำลังทดสอบแอนติบอดี AZD7442 กับสายพันธุ์ใหม่นี้และหวังว่าแอนติบอดีจะยังคงรักษาประสิทธิภาพไว้ได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาวัคซีนให้สามารถคลอบคลุมและป้องกันสายพันธุ์โอเมครอนได้
Moderna : คาดว่าจะทราบเกี่ยวกับความสามารถของวัคซีนในปัจจุบันเกี่ยวกับให้การต้านไวรัสโอไมครอนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และจะมีการพัฒนาวัคซีนที่สอดคล้องกับเชื้อตัวใหม่ในต้นปี 2022
Novavax : บริษัทได้เริ่มทำงานเพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นหนึ่งซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ และจะพร้อมสำหรับการทดสอบและการผลิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า (ข้อมูลวันที่ 29/11/2021)
ประเทศไทยปรับตัวอย่างไร? |
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับรายงานเรื่องการพบไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในแอฟริกาใต้แล้ว และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการต่าง ๆ
ประการที่ 1 ประเทศที่พบเชื้อไวรัสโอไมครอน/ประเทศเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี
- ผู้ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัว 14 วัน ตั้งแต่ 28 พ.ย.
- ไม่อนุญาตให้เข้าไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค.
- ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย.
ประการที่ 2 ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศ
- ไม่อนุญาตให้เข้าในระบบ Test & Go (ขณะนี้ไทยประกาศไว้ 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่มีความเสี่ยงน้อย)
- ไม่อนุญาตให้เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์
- สามารถเข้าไทยได้ โดยต้องกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่สามารถสรุปได้ว่าสามารถติดต่อกันได้ง่ายมากขึ้น