ฟังพูดไม่รู้เรื่อง อาจเป็นโรค Aphasia

  • Last modified on:2 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:68Words
  • PostView Count:136Views

ฟังพูดไม่รู้เรื่อง อาจเป็นโรค Aphasia

 

             โรคฟังพูดไม่รู้เรื่อง หรือ Aphasia เป็นภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

 

             ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย

 

             ภาวะดังกล่าวมีอยู่หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

  1. ชนิดที่มีปัญหาด้านการรับรู้ทางภาษาเป็นปัญหานำ
  2. ชนิดที่มีปัญหาด้านการแสดงออกทางภาษาเป็นปัญหานำ
  3. ชนิดที่มีปัญหาทั้งด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษา
  4. ชนิดที่มีปัญหาด้านการนึกคำพูด

             ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย สุขภาพดีดี.com ในหัวข้อของ ฟังพูดไม่รู้เรื่อง อาจเป็นโรค Aphasia ได้รวบรวมข้อมูลดีดีมาให้อ่านกันค่ะ

 

ปัญหาด้านการรับรู้ทางภาษาเป็นปัญหานำ

             ชนิดที่มีปัญหาด้านการรับรู้ทางภาษาเป็นปัญหานำ (receptive aphasia, sensory aphasia หรือ Wernicke’s aphasia)  พยาธิสภาพของสมองอยู่ที่ส่วนกลางของสมองส่วนหน้า (Wernicker’ s area) ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องด้านการฟังและการอ่านเป็นหลัก

 

             โดยมักจะพูดได้คล่องและชัดเจน แต่ไม่เข้าใจคำพูดของตัวเอง หรือไม่รู้ว่าตัวเองพูดผิดแต่บางรายอาจมีการสร้างคำพูดใหม่ ๆ ขึ้นมาเองได้อาจสรุปปัญหาด้านการรับรู้ทางภาษาในผู้ป่วยประเภทนี้ได้ดังนี้

  • ปัญหาในการฟังเข้าใจคำพูด
  • ปัญหาในการอ่านหนังสือ
  • ปัญหาในการพูดตาม
ปัญหาด้านการแสดงออกทางภาษาเป็นปัญหานำ

             ชนิดที่มีปัญหาด้านการแสดงออกทางภาษาเป็นปัญหานำ (expressive aphasia, motor aphasia หรือ Broca’s aphasia) พยาธิสภาพของสมองอยู่ที่ส่วนหน้าของสมองซีกซ้าย (Broca’s area)

 

             ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องด้านการพูดและการเขียนหนังสือเป็นหลัก โดยจะสามารถฟังเข้าใจคำพูดของผู้อื่นหรืออ่านหนังสือได้ แต่ไม่สามารถพูดคุยหรือพูดบอกความต้องการของตัวเองได้อาจสรุปปัญหาด้านการพูดในผู้ป่วยประเภทนี้ได้ดังนี้

 

  • พูดไม่ชัดอาจจะพูดไม่ชัดแบบ apraxia หรือ dysarthria ร่วมด้วย แล้วแต่ความรุนแรงและตำแหน่งของพยาธิสภาพ
  • พูดเฉพาะคำสำคัญของประโยค
  • พูดไม่คล่องตะกุกตะกัก หยุดพูดระหว่างคำบ่อยและนานกว่าปกติเพราะต้องหยุดนึกหาคำพูด
  • พูดใช้เสียงหนึ่งแทนเสียงหนึ่งหรือใช้คำหนึ่งแทนอีกคำหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
  • ปัญหาในการพูดตาม
  • ปัญหาในการคิดคำนวณหรือการนับเงินตรา
  • ปัญหาในการพูดสิ่งที่เรียงลำดับ
  • ปัญหาในการนึกคิดหาคำพูดหรือคำศัพท์ต่างๆ 

 

ปัญหาทั้งด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษา

 

             ชนิดที่มีปัญหาทั้งด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษา (receptive-expressive aphasia หรือ Global aphasia) พยาธิสภาพของสมองอยู่ที่สมองซีกซ้าย (Wernicke’s area และ Broca’s area) ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการสื่อสารทั้งด้านการรับรู้และการแสดงออกทางภาษาในระดับใกล้เคียงกัน

 

             มีความบกพร่องของปัญหาทั้ง  2 แบบข้างต้น โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพของโรคว่าอยู่ที่ Wernicke’s area หรือ Broca’s area ขั้นรุนแรงอาจพูดไม่ได้ ร่วมกับฟังไม่เข้าใจเลยก็เป็นได้

 

ปัญหาด้านการนึกคำพูด

             ชนิดที่มีปัญหาด้านการนึกคำพูด (Amnesic aphasia) ผู้ป่วยมีความลำบากในการนึกคิดคำศัพท์เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วย aphasia ประเภทอื่น ๆ ด้วยผู้ป่วยจะพูดได้คล่องชัดเจนถูกต้องตามไวยากรณ์ แต่จะพูดอ้อมค้อมและอธิบายถึงสิ่งที่ต้องการจะพูดแทนคำศัพท์ที่นึกไม่ออกหรือใช้คำอื่นแทนคำที่ต้องการจะพูด

 

             เช่นพูดว่า “สิ่งที่เอาไว้นั่ง” แทน “เก้าอี้” เป็นต้นในรายที่เป็นรุนแรงมากจะมีท่าทางลังเลในสิ่งที่จะพูดอัตราการพูดช้าลงส่วนด้านการฟังคำพูดจะปกติดีปัญหาด้านความเข้าใจในการอ่านและการเขียนจะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงสำหรับความบกพร่องในการคิดคำนวณหรือการนับเงินตราจะมีปัญหาน้อยมาก

 

การป้องกัน Aphasia

การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Aphasia สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ 
  • งดการสูบบุหรี่ 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น 
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด 
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน 

 

การรักษา Aphasia

             แพทย์จะรักษาภาวะ Aphasia ด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพทั่วไป ระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา และทักษะทางสังคมก่อนเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ 

 

             การบำบัดดังกล่าวมีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด โดยในขั้นตอนของการบำบัด แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ

 

             เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้เมื่อถึงเวลาของตนเอง เข้าใจในข้อผิดพลาดทางการใช้คำและแก้ไขบทสนทนาที่ผิดพลาดนั้นได้  

 

             โดยทั่วไป อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ได้ผลดีขึ้นหลังทำการบำบัดติดต่อกัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการบำบัด โดยจากการศึกษาพบว่าการบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุดเมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย 

 

             นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะ Aphasia แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดสอบ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายในสมอง ช่วยในการฟื้นฟูการทำงานของสมอง หรือเป็นยาที่ช่วยทดแทนสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยที่ขาดหรือหมดไป 

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 5 / 5. Vote count: 1