โปรไบโอติกส์ probiotics คืออะไร
ทุกวันนี้ทุกคนคงได้ยินชื่อเสียงของ โปรไบโอติกส์ หรือเคยได้ยินกันผ่านๆมาบ้างแล้ว วันนี้ สุขภาพดีดี.com รวบรวมข้อมูลดีดีเกี่ยวกับ โปรไบโอติกส์ probiotics คืออะไร มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ ซึ่งเริ่มจากทำความรู้จักกันก่อนว่า คืออะไร มาจากไหน มีประโยชน์อย่างไร แล้วจำเป็นแค่ไหนต่อร่างกายค่ะ
โปรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดดี ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบอื่น ๆ ของร่างกายเมื่อมีจุลินทรีย์อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม บางครั้งเรียกว่า “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต” มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง ช่วยผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ดังนั้น “โปรไบโอติกส์” จึงช่วยทำให้เกิดความสมดุลทั้งระบบของร่างกายนั่นเอง พบในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก ยกตัวอย่างเช่น ชีส นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น
ในด้านของวงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อกันว่า การรับประทาน โปรไบโอติก (Probiotic) ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถจะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงจากภายในร่างกายได้ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคเรื้อรังบางชนิด
ประเภทของ โปรไบโอติกส์ |
1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
เป็นแบคทีเรียจุลินทรีย์ชนิดดีในกลุ่มของโปรไบโอติกที่พบได้มากที่สุด สามารถพบได้ในอาหารธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดองบางชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย และเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้
2. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
หนึ่งในจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด พบได้ในอาหารที่ทำมาจากนม ช่วยในการบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน และมีการศึกษาในหลายชนิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายที่แตกต่างกันออกไป เช่น ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้
3. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces boulardii)
เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มของโปรไบโอติก สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร แต่เป็นชนิดที่ไม่มีอยู่ในร่างกายคนตามธรรมชาติ
ประโยชน์ของ โปรไบโอติกส์ กับร่างกาย |
1. ป้องกัน และบรรเทาอาการท้องเสีย
อาการท้องเสีย เป็นความทรมานของร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็กผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร (ท้องเสียเรื้อรัง) ในต่างประเทศมีการวิจัยวิธีแก้ปัญหานี้โดยแพทย์ได้นำเอาโปรไบโอติก (Probiotic) ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) มาใช้ป้องกันภาวะท้องเสียในเด็กขาดอาหารโดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่
ซึ่งผลลัพธ์พบว่าสามารถป้องกันได้ และยังลดระยะเวลา รวมถึงความรุนแรงของอาการท้องเสียที่เกิดจากภาวะอาหารเป็นพิษ และได้ผลดีมากในกลุ่มที่เกิดอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus)
2. แก้ปัญหาท้องผูก และรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
โปรไบโอติก (Probiotic) กลุ่มแลคโตบาซัลลัส สามารถช่วยลดภาวะอักเสบของลำไส้ โดยการปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ให้กลับมาสู่ภาวะปกติทำให้เยื่อบุลำไส้หลั่งสารพิษออกมาน้อยลง นอกนี้ยังช่วยปรับลดปริมาณจุลชีพในลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุการอักเสบทำให้ช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี และสามารถลดการอักเสบซ้ำได้โดยการใช้แลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม
3. เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายและรักษาโรคภูมิแพ้
การที่มีโปรไบโอติก (Probiotic) ในลำไส้อย่างเพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อได้ดี โดยเฉพาะป้องกันภาวะท้องเสียหรือการติดเชื้อในช่องท้อง นอกจากนี้สามารถลดการติดเชื้อในส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ปอดโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในกระแสเลือด และลดการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด
สำหรับเด็กที่มีอาการภูมิแพ้ หรือมีน้ำมูก ผื่นคัน หอบหืด จนกลายเป็นโรคเรื้อรัง พบได้มากพอสมควร หลายรายมีอาการรุนแรงจนต้องใช้วิธีรักษาจำเพาะหลายรูปแบบ การให้โปรไบโอติกเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยปรับสภาพภูมิคุ้มกันในร่างกายช่วยลดการอักเสบและทำให้ปัญหาภูมิแพ้ลดลง ซึ่งมีการใช้ทั้งแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม
4. ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ มีส่วนของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการสร้างสารก่อมะเร็งหรือเป็นตัวร่วมในการก่อมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทไขมันและเนื้อสัตว์จำนวนมาก
ทำให้เป็นการเพิ่มสารในกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีนที่เป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น แต่ถ้ามีโปรไบโอติกที่ดีในลำไส้เพียงพอก็จะสามารถช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ ป้องกันไม่ให้เกิดสารพิษเหล่านี้ได้
5. ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
‘ท้องผูก’ ปัญหาสุขภาพระบบทางเดินอาหารที่นับวันคนไทยจะเป็นมากขึ้น มีการศึกษาเก็บสถิติพบว่า 24% ของคนไทยคิดว่าตัวเองมีปัญหาท้องผูก และมี 8% ที่พบปัญหาในการเบ่งอุจจาระลำบาก และอีก 3% มีปัญหาถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ฉะนั้นการได้รับโปรไบโอตติก (Probiotic) อย่างเพียงพอสามารถช่วยลดอาการท้องผูกได้
6 . ช่วยส่งเสริมการรักษาโรคกระเพาะ
โรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน เป็นกลุ่มอาการในทางเดินอาหารและกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อย และต้องรักษาร่วมกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารแนะนำว่า การใช้พรีไบโอติกส์และโปรไบโอติกส์ร่วมกัน สามารถให้ผลทั้งในแง่ของการป้องกัน และรักษาโรคในทางเดินอาหารได้